กระดูกหัก

 เป็นภาวะที่หมอศัลยกรรมกระดูกและข้อต้องทำการรักษามากที่สุด ซึ่งเป็นการรักษาที่แตกต่างออกไปจากศาสตร์ของการผ่าตัดของหมอศัลยกรรมทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

     การรักษาภาวะกระดูกหักมีทั้งการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม จุดมุ่งหมายของการรักษาจะเหมือนกัน ได้แก่

         1.       เพื่อแก้ไขแนวแกนของกระดูกให้ได้กลับมาตามแนวปกติ

         2.       ยึดให้แนวกระดูกอยู่ในแนวปกติ จนร่างกายมีการรักษาตัวเอง และซ่อมแซมจนกระดูกกลับมาแข็งแรง และคงสภาพเดิมได้ด้วยตัวเอง

         3.       รักษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบๆ เพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงซ่อมแซมกระดูกที่หักได้ดี

         4.       ให้คนไข้สามารถกลับไปเดินได้อย่างปลอดภัย และเร็วที่สุด

 

     ในกรณีที่เป็นกระดูกหักแบบเปิด ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการล้างแผล และได้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดให้เร็วที่สุด เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อในกระดูกเป็นโรคที่รักษายากมาก และก่อให้เกิดทุพพลภาพที่ร้ายแรงกับคนไข้ โดยแพทย์อาจต้องนำผุ้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดหากแผลมีขนาดใหญ่หรือแผลสกปรกมาก หลังจากนั้น การแก้ไขแนวกระดูกและยึดตรึงกระดูก อาจทำได้ทันทีหลังจากที่ล้างแผลเรียบร้อยแล้ว  และคนไข้มาภายใน 6ชั่วโมงแรก เนื่องจากอัตราการติดเชื้อยังไม่มาก แต่ถ้าคนไข้มาช้ากว่า 6 ชั่วโมงแล้ว หรือมีภาวะทางศัลยกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยยังไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดทางกระดูก ก็อาจจะต้องรอไปก่อน เนื่องจากการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกไม่ได้เป็นถือภาวะเร่งด่วน และต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างเพื่อช่วยในการจัดแนวกระดูกให้ดีที่สุด

 

 

     การผ่าตัดกระดูก จะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก คือการผ่าตัดเพื่อเปิดและจัดตำแหน่งที่กระดูกหักโดยตรง  และ การผ่าตัดจัดแนวกระดูกและยึดโดยจัดจากภายนอก ทำให้หลายๆครั้ง หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่เห็นแผลขนาดใหญ่ตรงตำแหน่งที่กระดูกหักเสมอไป ส่วนการเลือกอุปกรณ์เพื่อยึดตรึงกระดูกนั้นจะมีทั้งแบบที่ใส่เข้าไปในแกนกลางกระดูก หรือแบบที่ยึดด้านนอกกระดูก โดยการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม แพทย์จะเป็คนเลือกวิธีเอง โดยจะพิจารณาตามลักษณะของกระดูกที่หัก, เนื่อเยื่อเกี่ยวพันรอบนอก, โรคประจำตัวผู้ป่วย เช่นภาวะกระดูกบาง และลักษณะแผลภายนอก หากแผลภายนอกดูไม่ดี มีโอกาสติดเชื้อมาก แพทย์อาจเลือกการยึดตรึงกระดูกจากอุปกรณ์ภายนอก เพื่อลดการรบกวนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันนอบๆให้น้อยที่สุด ในบางครั้งงคนไข้จึงจะเห็นว่ามีเหล็กตามข้างนอกแขนหรือขาด้วย ก็ด้วยสาเหตุต่างๆเหล่านี้นั่นเอง

     ภาวะกระดูกหักจะหายได้ ต้องอาศัยการยึดตรึงกระดูกที่แข็งแรง, การรักษาเนื้อเยื่อรอบๆให้ดี, ลดโอกาสติดเชื้อให้น้อยที่สุด และสุดท้ายคือเรื่องของการฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสข้อติดก็น้อยลงมากเท่านั้น และผลของการรักษาจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่การกายภาพบำบัด ก็ต้องอยู่บนขีดจำกัดตามสมควรที่แพทย์แนะนำให้ทำ เนื่องจากในช่วงแรกที่กระดูกยังไม่แข็งแรง การเดินลงน้ำหนักที่มากเกินไป อาจทำให้มีกระดูกผิดรูป หรือกระดูกหักซ้ำได้

     การกินอาหารที่ดี เป็นส่วนที่จะช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยควรเลือกเป็นพวกเนื้อสัตว์โปรตีนสูง เช่นหมู ปลา ไข่ และจำพวกแคลเซี่ยม เช่น ปลาตัวเล็กทอดกรอบ เต้าหู้ และผักใบเขียว รวมถึงการปฏิบัติตัวก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรงดสูบบุหรี่อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีงานวิจัยรองรับแล้วว่า การสูบบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดหดตัวอย่างมาก และลดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณกระดูกหัก และเนื้อเยื่อที่เกิดการบาดเจ็บรอบๆ ทำให้หายช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การเลือกกินอาหารและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่ผุู้ป่วยและญาติควรช่วยกัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด

 

 

บทความโดย : พญ.วรรณสิริ คุปต์นิรัติศัยกุล