หัวไหล่หลุด

 

หัวไหล่หลุด

 

ภาวะข้อไหล่หลุด(Shoulder dislocation) เป็นภาวะข้อหลุดที่พบมากทีสุดในร่างกาย กว่า 90% เป็นการหลุดมาทางด้านหน้า โดยสาเหตุหลักเกิดจากอุบัติเหตุ ลงในท่ากางแขนและหมุนออก (abduction & external rotation) ซึ่งปัญหาที่สำคัญของภาวะไหล่หลุดในผู้ป่วยอายุน้อย คือโอกาสของการเกิดไหล่หลุดซ้ำสูงมาก ก่อให้เกิดภาวะข้อไหล่หลวม(Shoulder instability)ตามมา จากการศึกษาพบว่า หากผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 20 ปี โอกาสที่ไหล่จะหลุดซ้ำนั้น สูงมากถึง 90% ดังนั้น การรักษาภาวะข้อไหล่หลุดอย่างเหมาะสม จะเป็นการป้องกันภาวะไหล่หลวม และลดโอกาสของการผ่าตัดในภายหลัง



อาการเบื้องต้นของภาวะข้อไหล่หลุดมาทางด้านหน้า ได้แก่ อาการปวดหัวไหล่ ร่วมกับมีหัวไหล่ผิดรูป เช่น มีลักษณะนูนทางด้านหน้า, ผู้ป่วยไม่สามารถขยับหัวไหล่และแขนได้, และส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าอ้าแขนออก หากพบผู้ป่วยมีลักษณะดังกล่าว ให้สงสัยภาวะข้อหัวไหล่หลุด และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เนื่องจากข้อหัวไหล่หลุดนั้น ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษาโดยการดึงให้เข้าที่โดยเร็ว



การรักษาในเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดการขยับหัวไหล่อย่างน้อย 3 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง และเยื่อหุ้มข้อแข็งแรงขึ้นก่อนในช่วงแรก หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มให้กายบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่เพื่อช่วยพยุงข้อหัวไหล่ไว้ให้แน่น ไม่หลุดออกจากกันอีก ซักระยะหนึ่งที่กล้ามเนื้อรอบหัวไหล่แข็งแรงขึ้นแล้ว แพทย์จึงจะเห็นสมควร และอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานข้อหัวไหล่ได้ตามปกติ



อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีพยาธิสภาพของเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่แล้ว โอกาสของข้อหัวไหล่หลวมและหลุดซ้ำจะสูงมาก ปัญหาที่ตามมาคือข้อหัวไหล่เสื่อมก่อนวัย ทำให้เกิดอาการปวดเวลาใช้งาน และความสามารถในการใช้งานข้อหัวไหล่ลดลง การผ่าตัดจึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน การผ่าตัดส่องกล้องได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก จนผลการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดแบบเปิดก็ว่าได้ แต่แผลจากการผ่าตัดเล็กลงมาก ทำให้การรักษาในระยะพักฟื้นสั้นลง ภาวะแทรกซ้อนต่างๆน้อยลง รวมถึงผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติได้เร็วขึ้นมาก



โดยสรุป ภาวะข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่สำคัญ ควรต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว หากผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุและมีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดข้อหัวไหล่หลุดซ้ำ ไหล่หลวม และลดโอกาสของการผ่าตัดที่จะตามมา



บทความโดย : พญ.วรรณสิริ คุปต์นิรัติศัยกุล

เครดิตรูป:       http://www.stoneclinic.com/shoulder-dislocation