แผลร้อนในหรือแผลในปาก

 

แผลร้อนในหรือแผลในปาก

 

แผลร้อนในหรือแผลในปาก มักเกิดในช่วงวัยรุ่นและสามารถเกิดได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาจเกิดได้หลายสาเหตุ มีหลายประเภทดังนี้

1. แผลขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-10 มิลลิเมตร พบได้บ่อยที่สุดและหายได้ภายใน 7-10 วัน

 

2. แผลขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง มากกว่า 10 มิลลิเมตร พบได้น้อยกว่าแผลขนาดเล็ก และอาจใช้เวลานาน 10-30 วัน แผลจึงจะหายได้ เมื่อหายแล้วอาจกลายเป็นแผลเป็นได้

 

3. แผลเฮอร์ปิติฟอร์ม เป็นแผลขนาดเล็กหลายแผลรวมกัน (ไม่เกี่ยวข้องกับแผลเริมในปาก) และหายได้เองใน 7-10 วัน

 

อาการ

 

ของแผลร้อนในหรือแผลในปากมักพบแผลตามลิ้น เยื่อบุด้านในของริมฝีปาก หรือตามเหงือก อาจเกิดได้ 1-2 ครั้งต่อปีหรือมากกว่านั้น มักมีอาการปวดแสบร้อนที่แผล แผลในปากไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

 

สาเหตุ

 

ของแผลร้อนในหรือแผลในปาก อาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ บางรายเกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 ขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินซี นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ ความเครียด กัดโดนเยื่อบุปาก เคี้ยวของแข็ง แปรงฟันผิดวิธี   รับประทานอาหารเผ็ดร้อน สูบบุหรี่หรือฟันปลอมที่สวมไม่พอดี ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียมลอรีลซัลเฟต ก็อาจทำให้เกิดแผลในปากได้

 

ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติสามารถทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย เช่น โรคเอสแอลอี โรคโครห์น หรือ โรคเบเซ็ท ซึ่งก็อาจทำให้เกิดแผลอักเสบในปากได้ ในผู้หญิงบางคนอาจเกิดแผลในปากได้ในขณะมีประจำเดือน บางรายก็อาการดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

 

วิธีการรักษาและข้อแนะนำ

 

1. ควรหลีกเลี่ยงการทานมันฝรั่งทอดหรือของแข็งที่อาจทิ่มแทงเยื่อบุปากได้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน

 

2. แนะนำให้ใช้น้ำยาล้างปาก หรือน้ำเกลือบ้วนปาก

 

3. ทายาที่แผลในปาก ได้แก่ ครีมยาชา หรือครีมสเตียรอยด์

 

4. รับประทานยาแก้ปวด หรือให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ และดื่มน้ำเย็น ๆ

 

5. รับประทานวิตามินบีและซี

 

6. ถ้าเกิดจากโรคอื่น เช่น โรคเอสแอลอี โรคโครห์น หรือ โรคเบเซ็ท ควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการของโรคนั้น

 

ส่วนใหญ่แผลในปากจะค่อย ๆ หายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ยาอื่นๆ นอกจากยาบรรเทาปวดเป็นครั้งคราว ลักษณะของโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผลในปาก

 

1. โรคเอสแอลอี เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อของตนเอง อาจพบความผิดปกติตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มีผื่นขึ้นตามแก้ม ปลายนิ้วมือซีดและเขียว เมื่อสัมผัสอากาศเย็น ผมร่วง มีภาวะไตอักเสบ บวมทั้งตัว หรือสมองอักเสบ เป็นต้น

 

2. โรคโครห์น  เป็นโรคภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดลำไส้อักเสบ การอักเสบส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กส่วนปลายที่ต่อกับลำไส้ใหญ่ การอักเสบจะทำให้ผนังลำไส้หนาตัวมากขึ้น อาจคลำก้อนในท้องได้ หรือมีจุดกดเจ็บที่ท้อง มีผื่น ปวดข้อ และแผลในปาก

 

3. โรคเบเซ็ท จะพบแผลในปากเป็น ๆ หาย ๆ มีแผลที่อวัยวะเพศ ตาอักเสบ นอกจากนี้อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย

 

4. แผลเริมในปากเป็นการติดเชื้อเริมที่ริมฝีปากเกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์โดยมีลักษณะเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ บริเวณริมฝีปากเหงือกและมีอาการปวด จะติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง เช่น การจูบ หรือการใช้ของร่วมกัน เช่น การใช้ใบมีดโกน การใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน หลังจากได้รับเชื้อ 7-10 วันจะเริ่มเกิดอาการแสบร้อนและตามด้วยตุ่มใสเล็ก ๆ ตุ่มใสนี้จะอยู่เป็นเวลา 7-10 วันแล้วจึงเริ่มหาย

 

5. มะเร็งในช่องปาก ลักษณะเป็นปื้นแผลสีขาว หรือเป็นก้อนที่แตกออกเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่หายขาด

 

6. โรคเอดส์มักเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ แผลมักหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน ควรให้การรักษาตามอาการเพื่อทุเลาปวดเช่น ป้ายยาสเตียรอยด์หรืออมน้ำแข็ง ถ้าเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ และไม่หายขาดอาจเกี่ยวข้องกับโรคเอสแอลอี โรคโครห์น โรคเบเซ็ท แผลเริมในปาก มะเร็งช่องปาก หรือโรคเอดส์ได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย ผช.ศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล